เกษตรกรที่ปลูกไม้ผล เตือนให้เฝ้าระวังในการระบาดของผีเสื้อมวนหวาน ที่จะเข้าทำลายผลไม้ โดยเฉพาะสวนผลไม้ที่อยู่บริเวณใกล้ป่า เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผีเสื้อมวนหวาน ไม่สามารถหากินผลไม้ป่าได้จึงต้องออกมาหาผลไม้ในแปลงของเกษตรกรแทน
ลักษณะในการทำลายของผีเสื้อมวนหวาน ตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำหวานจากผลไม้สุก หรือในระยะใกล้จะเก็บเกี่ยว โดยใช้ปากแทงทะลุผ่านเปลือกของผลไม้สุกหรือใกล้สุกเป็นรูเข้าไปดูดกินน้ำหวานของเนื้อผลไม้ ซึ่งแผลที่ถูกทำลายจะเป็นรู และมีน้ำหวานไหลออกมา เป็นสิ่งดึงดูดให้แมลงชนิดอื่นๆ เข้าไปทำลายซ้ำเดิม หลังจากนั้นผลจะเน่าเสียและร่วงหล่นในที่สุดการป้องกัน และกำจัดการเข้าทำลายของผีเสื้อมวนหวานแนะนำให้เกษตรกรทำลายวัชพืชต่างๆ ที่อยู่บริเวณสวนหรือบริเวณใกล้เคียง เพราะวัชพืชเหล่านั้นอาจเป็นพืชอาหารของตัวหนอนผีเสื้อมวนหวาน ส่วนผลไม้ที่สามารถห่อผลได้เมื่อเริ่มสุกควรทำการห่อผลทันที เพื่อป้องกันการเข้าทำลายของผีเสื้อมวนหวาน และเป็นการหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี พร้อมกับจับตัวเต็มวัยผีเสื้อมวนหวานมาทำลาย โดยใช้ไฟส่องและสวิงโฉบจับหรือติดกับดักแสงไฟ ขณะไม้ผลในสวนเริ่มสุก ซึ่งจะทำให้สามารถจับผีเสื้อมวนหวานได้จำนวนมากนอกจากนี้ ให้ใช้เหยื่อพิษล่อผีเสื้อมวนหวาน โดยใช้ผลไม้สุกที่มีกลิ่นหอม เช่น กล้วย สับปะรด มะละกอ หรือลูกตาลสุก ตัดเป็นชิ้นชุบสารฆ่าแมลง เช่น คาร์บาริล อัตรา 2 กรัม / น้ำ 1 ลิตร แช่ไว้ 5 นาที จึงนำชิ้นผลไม้เหล่านั้นไปแขวนในสวนเป็นจุดๆ ห่างกันจุดละประมาณ 20 เมตร และใช้กรงดักจับผีเสื้อมวนหวานทำด้วยมุ้งลวดทั้ง 6 ด้าน ด้านล่างเจาะเป็นรูปฝาชี ตั้งสูงจากพื้นดิน 20 – 30 เซนติเมตร ใช้ผลไม้สุกเป็นเหยื่อล่อที่ด้านล่าง หรือพ่นด้วยสารสกัดสะเดาซึ่งมีประสิทธิภาพเป็นสารไล่เพื่อป้องกันการเข้าทำลายของผีเสื้อมวนหวาน โดยนำไปพ่นให้ทั่วในสวนเวลาเย็นขณะที่มีผลไม้สุก 3 – 4 ครั้ง ทุก 7 วัน
ขอบคุณที่มา : facebook เพจ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร / เกษตรทันข่าว.com