ระวัง เพลี้ยอ่อน ในข้าวโพด (ข้าวโพดฝักสด,ข้าวโพดหวาน, ข้าวโพดเทียน, ข้าวโพดข้าวเหนียว)
สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศร้อน มีฝนตก และฝนตกหนักบางพื้นที่ เตือนผู้ปลูกข้าวโพด (ข้าวโพดฝักสด,ข้าวโพดหวาน, ข้าวโพดเทียน, ข้าวโพดข้าวเหนียว) ในระยะ ระยะออกดอก-ติดฝัก รับมือเพลี้ยอ่อนตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของใบ และช่อดอกตัวผู้ ถ้าช่อดอกมีเพลี้ยอ่อนเกาะกินอยู่มากจะทำให้ช่อดอกไม่บาน การติดเมล็ดน้อยและทำให้เมล็ดแก่เร็วทั้งๆ ที่เมล็ดยังไม่เต็มฝัก หากมีการระบาดมาก จึงพบกระจายอยู่ตามส่วนต่างๆ ของลำต้น กาบหุ้มฝัก โดยเพลี้ยอ่อนชนิดมีปีก บินมาจากแปลงใกล้เคียง ตั้งแต่ข้าวโพดอายุประมาณ 15 วัน หลังจากนั้นอีก 1-2 สัปดาห์ จะพบเพลี้ยอ่อน ออกลูกเป็นตัวอ่อนรวมกันเป็นกลุ่มๆ โดยเฉพาะบริเวณใต้ใบล่างๆ และเพลี้ยอ่อนค่อยๆ แพร่ขยายจากใบล่างขึ้นมาบนใบเรื่อยๆ และขยายพันธุ์ เพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็วจนพบปริมาณสูงสุดในระยะข้าวโพดกำลังผสมเกสร มักพบเกาะเป็นกลุ่มๆ ดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของต้นข้าวโพด เช่น ยอด กาบใบ โคนใบ กาบฝัก และจะพบมากที่สุดบริเวณช่อดอก ทำให้บริเวณที่ถูกดูดกินแสดงอาการเป็นจุดสีเหลืองปนแดง
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
1. ในแหล่งที่มีการระบาดเป็นประจำในฤดูแล้ง หากสำรวจพบเพลี้ยอ่อนข้าวโพดแพร่กระจายจากใบล่างขึ้นมาและเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วทั้งแปลง ควรป้องกันกำจัดก่อนข้าวโพดแทงช่อดอกตัวผู้ หรือก่อนดอกบานจะให้ผลในการควบคุมได้ดี
2. หากมีการระบาดเกิดขึ้นเฉพาะจุด พ่นสารฆ่าแมลง คาร์บาริล 85% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เบตา-ไซฟลูทริน 2.5% EC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดอะซินอน 60% EC อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อิมิดาโคลพริด 10% SL อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร การพ่นสารฆ่าแมลงควรพ่นเฉพาะจุดที่มีเพลี้ยอ่อนข้าวโพดระบาดเท่านั้น
ขอบคุณที่มา : facebook เพจ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร / ภาพ:ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์